การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอีกมิติหนึ่งของการขับเคลื่อนพัฒนาการภาคประชารัฐ 2563 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นความหวังแห่งพัฒนาการของสังคมไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งในหลายสิบปีที่ผ่านมากลไกรัฐบาลไทยในหลายยุคสมัยมีความพยายามปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ การเรียนการสอน แต่ก็ยังติดกับดักปัญหาโครงสร้างการบริหาร ที่ดูเหมือนว่าทุกภาคส่วนองคาพยพการศึกษาจะฟันธงตรงกันว่า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่การเรียนรู้ของเด็กไทย
ในขณะที่การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูเหมือนว่า หากสัมผัสแตะต้องตรงจุดใดก็ดูเหมือนจะเกิดแรงกระเพื่อมที่จุดนั้น และเกิดกระบวนการส่งต่อ ปฏิกิริยาตีกลับ ซึ่งความพยายามที่จะปฏิรูปกระบวนการทางด้านการศึกษาชาติให้พัฒนาการไปแบบคู่ขนานกันไปตามบริบท องค์ประกอบ และศักยภาพทรัพยากรทางด้านการจัดการศึกษา จึงเกิดการกระทบกระทั่งกับขุมข่ายวิสัยทัศน์ วิธีคิด วิธีการ ต่างแท่งบริหาร ต่างภารกิจหน้าที่ ต่างภูมิหลังภูมิรู้และกระทั่งวัฒนธรรมกระบวนการทางความคิดของแต่ละคน กลุ่มคน ไปจนถึงต้นทุนวัฒนธรรมองค์กร
การกระจายอำนาจทางการศึกษา เป็นหลักสากลและอุดมคติของหลักการบริหารที่สมบูรณ์และตอบโจทย์มิติสังคมหนึ่งๆได้อย่างชัดเจน หากแต่ความพยายามของการปฏิรูปการศึกษาไทยที่ผ่านทั้งกลไกรัฐสภา กระบวนการตามคำสั่งพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม้จะตกผลึกวิธีการผ่านทุกปฏิกิริยามาแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่า การปฏิรูปการศึกษา ท้ายสุดก็ต้องอยู่ที่แนวร่วมและขุมข่ายที่ทรงพลังที่เรียกว่า ผู้บริหาร
สังคมไทยในศตวรรษที่ 21 ต้องยอมรับว่า ยังมีปัญหาทางด้านพัฒนาการทรัพยากรบุคคล การปฏิรูปการศึกษาไทยที่ดูจะไม่ต่างกับการเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน วาระแห่งการศึกษาผ่านแผนการศึกษาชาติ นโยบายแห่งรัฐ ในระยะสั้นจึงเป็นเพียงกระบวนการแกว่งตะกอนมิให้นอนก้นเท่านั้น ในขณะที่ระยะยาวกับการสร้าง “คนรุ่นใหม่” ให้ตรงตามพลวัตโลก บนพื้นฐานแห่งอารยธรรมของชาติและคุณลักษณะพื้นฐานเอกลักษณ์ไทยกลับถูกครอบงำท้าทายด้วยกระบวนการสื่อสารและการสร้างกระแสความรู้ความเข้าใจได้แบบเพียงปลายนิ้ว
ปี 2563 กับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไทย ที่น่าจับตามองก็คือ การปฏิรูปโครงสร้าง โดยมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2560 เป็นกรอบวิธีการและวิธีคิด การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค ที่จะสามารถส่งตรงนโยบายผ่านเขตตรวจราชการ สู่สถานศึกษา ที่จำเป็นต้องลดกำลังพลและระดับตำแหน่ง ยังคงเป็นของร้อนสำหรับ ผู้บริหารทุกระดับ หากแต่ปัจจัยผู้รับบริการ คือ ประชาชน ผ่านมิติพัฒนาการศึกษาในรูปแบบนานัปการที่ส่งสัญญาณมาหลายขวบปี เช่น การควบรวมสถานศึกษา การวางอัตราส่วนสายสามัญกับสายอาชีพ การผลิตผู้บริหารสถานศึกษาผ่านภาคประชาสังคมแบบ 360 องศา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อจำกัดตามปัจจัยหลัก คือ งบประมาณแผ่นดินและการลงทุนอภิมหึมามหาศาลในแต่ละรอบหนึ่งปีงบประมาณ
เมื่อกลไกพัฒนาการประชาคมไทยสู่ประชาคมโลกศตวรรษที่ 21 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แบบอ่านอนาคตกันยาวๆกับเด็กไทยเจนเนอเรชั่นหนึ่งกับผู้สูงอายุที่ยังย่ำอยู่บนรอยต่อของการก้าวกระโดดแห่งยุคสมัย การศึกษาไทยจึงเป็นปัจจัยสำคัญทั้งกระบวนการ วิธีการ วิธีคิด วิสัยทัศน์ ผ่านวิชาชีพสร้างคนสร้างชาติ ที่ต้องตอบโจทย์ของแผ่นดินและอ่านประเทศไทยในปี 2020 ได้ว่า ประเทศไทยในอนาคตอยู่ในมือของเด็กไทยในห้องเรียนวันนี้
ยิ่งกระหายอำนาจ ผลประโยชน์และบารมีมากเท่าไหร่ หายนะประเทศและพลังการต่อรองในเวทีโลกทุกรูปแบบ ก็จะยิ่งทุพพลภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น
ปฏิรูปการศึกษาไทย หมดเวลา “เสียของ” ซ้ำซาก !