“พระกริ่ง” ถือกำเนิดขึ้นในประเทศธิเบต และจีนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนาในลัทธิมหายาน ต่อมาได้มีผู้นำไปเผยแพร่ยังขอม (เขมร) ขอมยังได้รับอิทธิพลจากอินเดียอีกทางหนึ่งด้วย
จนกระทั่งถึงสมัยของพระเจ้าประทุม สุริยวงศ์ แห่งอาณาจักรขอมโบราณ ผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสร้างพระกริ่งประทุม (พระกริ่งอุบาเก็ง) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยลักษณะไสยเวท ใช้ปัถมัง (โลหะต่างๆที่เป็นตัวแทนของธาตุ) ลงยันต์ ร้อยแปด (ยันต์ครอบจักรวาล) และสวด 14 นะ (บทสวดเมตตา 14 บท)
จากนั้นจึงบรรจุโลหะพร้อมเม็ดกริ่งเข้าไปไว้ในองค์พระ เมื่อเขย่าจะเกิดเสียง ตามความเชื่อที่เสมือนว่าได้สดับพระนามอันทำให้เกิดความเป็นสิริมงคล การเจริญกิจอันเป็นสมาธิ ผู้ใดที่ได้ยินเสียงพระกริ่ง ขอให้ตั้งจิตสมาธิอธิฐานในสิ่งอันปรารถนา
พระกริ่งส่วนมากจะทำมาจากโลหะผสมโดยวิธีการหล่อด้วยแม่พิมพ์แบบประกบ ซึ่งเมื่อแกะพระกริ่งออกจากแม่พิมพ์ จะมีรอยขอบตะเข็บข้าง จึงต้องใช้ตะไบตกแต่งให้เรียบเนียนอีกครั้ง เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม
บางครั้งอาจพบวิธีการหล่อโดยการแกะหุ่นเทียนแบบหล่อทีละองค์ เมื่อแกะหุ่นเทียนเสร็จแล้ว จะใช้ดินละเอียด และส่วนผสมที่เหมาะสมพอกที่ตัวหุ่น (ขึ้นหุ่น) จากนั้นจึงนำไปเผาเพื่อให้หุ่นเทียนร้อนเหลวละลายออกมา ดินที่พอก จะแห้งแข็งเป็นแม่พิมพ์ แล้วจึงเทโลหะที่ถูกหลอมละลายแล้วลงในเบ้าหุ่น ทิ้งไว้จนโลหะเย็นตัวแล้วจึงทุบเบ้าออก จะไม่เกิดรอยตะเข็บข้างให้เห็น คล้ายกับวิธีการหล่อแบบหล่อชี้ผึ้ง (lost wax) เช่น การหล่อระฆังและการหล่อพระในสมัยโบราณ จากนั้นจึงทำการบรรจุเม็ดกริ่ง เข้าไปไนองค์พระและอุดปิดฐานองค์พระในภายหลัง เมื่อเขย่าจะเกิดเสียง อันเป็นที่มาของคำว่า “พระกริ่ง” ตราบจนทุกวันนี้ ส่วนพระกริ่งที่เขย่าแล้วไม่เกิดเสียงนั้นจะเรียกว่า “พระกริ่งไบ้”
พระกริ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปพระไภษัชคุรุในลัทธิมหายาน ซึ่งเป็นพุทธศิลป์แบบจีน มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธปฏิมากรลอยองค์ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรอยู่บนฐานดอกบัวสองชั้น (บัวคว่ำและบัวหงาย) โดยพระหัตถ์ซ้ายถือดวงประทีป ลูกแก้ว หรือบาตรน้ำมนต์ สันนิษฐานว่า
สิ่งมงคลที่อยู่บนพระหัตถ์นั้นน่าจะหมายถึงความสว่างแห่งปัญญา ความสะอาดสุกใสแห่งควงจิตอันบริสุทธิ์ สมารถใช้รักษาโรคภัยไช้เจ็บ อีกทั้งยังใช้ป้องกันขจัดปัดเป่าภัยจากภูตผี ปีศาจได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีพระกริ่ง อีกมากมายหลายปางและพระหัตถ์ถือสิ่งมงคลต่างๆอีกหลายสิบหลายร้อยชนิด
สำหรับตำรับการสร้างพระกริ่งในประเทศไทยนั้นได้เริ่มสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในราวปี พ.ศ. 2416 โดยท่านสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้ทรงรวบรวมชนวนโลหะมงคล ทำการหล่อเป็นพระกริ่ง ซึ่งท่านทรงเรียกว่า “พระกริ่งปวเรศฯ” และได้ทรงสร้างเรื่อยมาจน ถึงปี พ.ศ. 2434 จำนวนที่สร้างยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่ามีกี่องค์ ในช่วงตลอดเวลา 18 ปีดังกล่าว
ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2441 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) แห่งวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ได้สร้างพระกริ่งเทพโมลี ขึ้นเป็นรุ่นแรกของท่าน และต่อมาได้สร้างพระกริ่งรุ่นอื่นๆอีก เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2468 พระกริ่งเซียงตุง ถือว่าเป็นพระกริ่งรุ่นสุดท้าย พอลำดับได้ทั้งสิ้น 34 รุ่นด้วยกัน
ปัจจุบันถือว่าวัดบวนิเวศวิหาร และวัดสุทัศน์ เทพวรรามเป็นสำนักต้นแบบที่เป็นต้นตำรับในการสร้างพระกริ่ง คู่ฟ้าเมืองไทย ส่วนการสร้างพระกริ่งงของวัดหรือสำนักอื่นๆ ในปัจจุบัน ก็ยังคงใช้ตำราตามแนวทางของทั้งสองสำนักนี้
ในหนังสือเล่มนี้ ทางคณะผู้จัดทำได้รวมรูปภาพพระครึ่งยอดนิยมบางส่วน ซึ่งหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน มาให้ ท่านผู้อ่านได้ทัศนา เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาถึงพระพักตร์และพุทธลักษณะปางต่างๆ ผิวขององค์พระ คราบเบ้า ตามซอกองค์พระที่เกิดจกการหลอม และพระกริ่งที่ถูกตกแต่งด้วยเครื่องมือแบบโบราณ พระกริ่งในเมืองไทยนั้นมี จำนวนมากมายหลายพันชนิด จัดสร้างจากหลายร้อยวัด ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงพระกริ่งที่สร้างจากต่างประเทศ จึงเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ทั่วถึงได้ในเพียงแค่ช่วงเวลาอันสั้น
พระกริ่งที่ถูกสร้างขึ้นอย่างถูกต้องตามต้นแบบตำราทุกประการนั้น จะมีพระพุทธคุณที่เพียบพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางนิรันตราย เมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี อีกทั้งยังสามารถแช่ทำน้ำมนต์รักษาโรคและป้องกันภัยจากภูตผีปิศาจได้อีกด้วย