พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๘๙/2 (๑) (๒) (๓) (๖) (๔) (๑๑) และ (๑๒) และมาตรา ๑๐๕ วรรคสาม บัญญัติให้การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในเรื่องการกำหนดขนาดของสหกรณ์ การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นของกรรมการดำเนินการสหกรณ์และผู้จัดการ การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล การจัดทำบัญชี การจัดทำและการเปิดเผยงบการเงิน การสอบบัญชี และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และการจัดเก็บและรายงานข้อมูล เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวง สำหรับการกำกับ ดูแล สหกรณ์ฯ ให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2564 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564
ตามกฎกระทรวง หมวด 2 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้จัดการ สหกรณ์ขนาดเล็กต้องมีกรรมการซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิหรือผ่านการอบรมหลักสูตรในด้านดังกล่าวหรือตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด อย่างน้อยหนึ่งคน (ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่สหกรณ์มี คณะกรรมการ ชุดใหม่ และหากพ้น 2 ปีไปแล้วหลังที่กฎกระทรวงบังคับใช้ จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดทันที) ในด้านหัวข้อที่มีความเกี่ยวข้องกับการลงทุนของสหกรณ์นั้น ตามกฎกระทรวง หมวด 2 ข้อ 6 “ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ขนาดใหญ่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบการดำเนินการเฉพาะด้าน ซึ่งอย่างน้อยต้องต้องมีคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสหกรณ์นั้น” และ หมวด 2 ข้อ 7 “ สหกรณ์ที่มีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าร้อยละยี่สิบของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรอง หรือเงินลงทุนมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการลงทุน เพื่อจัดนโยบาย และแผนการลงทุนเสนอต่อคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ รวมทั้งดูแลและจัดการการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการลงทุนดังกล่าว ให้คณะอนุกรรมการการลงทุนตามวรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสหกรณ์นั้น”
ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ แม้จะใช้บังคับกับสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบัน สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็กหลายแห่งมีกรอบนโยบาย แผนการลงทุน และมีการลงทุนเป็นจำนวนมาก บางแห่งมีสัดส่วนของการลงทุนมากกว่าร้อยละยี่สิบของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง หรือมีเงินลงทุนมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็กที่มีการลงทุนเป็นไปตาม หมวด 2 ข้อ 7 ควรมีการแต่งตั้งและกำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการการลงทุน เช่นกัน ซึ่งประโยชน์จากการกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว มีผลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็ก ที่มีแผนการลงทุนในอนาคต หรือ มีผลการลงทุน ที่เกิดขึ้นแล้วสูงกว่าร้อยละยี่สิบของทุนเรือนหุ้นและทุนสำรอง หรือมีเงินลงทุนมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท ควรมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะอนุกรรมการการลงทุน เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็ก
มีกรอบทิศทางการลงทุนที่ชัดเจน มีนโยบาย มีแผนการลงทุน นำเสนอคณะกรรมการรวมถึงที่ประชุมใหญ่ และเพื่อป้องกันความเสี่ยง ความเสียหายของสหกรณ์ในการลงทุน ซึ่งชัดเจนว่าผลการลงทุนที่มีความระมัดระวังและมีการพิจารณาถึงความเสี่ยงนั้นย่อมยังประโยชน์ไปถึงสมาชิกสหกรณ์
สหกรณ์จังหวัดนนทบุรี