วันที่ 16 ก.ค.2566 เวลา 15.00 น.กองบรรณาธิการนสพ.ประชาไทนิวส์ออนไลน์ ได้เดินทางไปพบผู้มีความรู้เกี่ยวกับพระกริ่งปวเรศ ที่ห้างสรรพสินค้าจตุจักร (ตึกแดง) โดยมี อ.ธีรศักดิ์ ฉัตรทอง ผู้เขียนหนังสือ พระกริ่งตระกูลปวเรศ “จักรพรรดิ์แห่งพระกริ่งสยาม” พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นพ.มานะ โรจนวุฒนนท์ นักสะสมและอนุรักษ์พระกริ่งปวเรศ จึงได้ร่วมพูดคุยเพื่อนำข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ มาเผยแพร่ให้ผู้สนใจในพระกริ่งปวเรศนั้นได้ศึกษา
อาจารย์ธีรศักดิ์ ฉัตรทอง เปิดเผยว่า ในสมัยก่อนนั้น มีการนำพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ประกอบพระราชพิธีตามประเพณีไทยโบราณมากมาย ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญ เช่น ประกอบพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก (ครอบพระกริ่ง) ทำน้ำพระพุทธมนต์สักการะบูชา พระราชพิธีมูรธาภิเษก และอีกหลายพระราชพิธีที่ไม่ปรากฏชัดเจน เช่นพระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ โดยแต่ละครั้งในพระราชพิธีต่าง ๆ นั้น มีการนำพระกริ่งมาประกอบเข้าพิธีด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งถือได้ว่าในสมัยโบราณ พระกริ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ
โดยพระกริ่งปวเรศนั้นถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2394 ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบจากบาตรน้ำมนต์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์และยืนยันว่ามีการสร้างขึ้นมาจริง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2394 – ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผ่านวิวัฒนาการมาหลายรัชสมัยมีการสร้างพระกริ่งขึ้นมาหลากหลายวาระมาตั้งแต่อดีต โดยช่างสิบหมู่วังหน้าและช่างสิบหมู่วังหลวง การสร้างพระกริ่งได้วิวัฒนาการจนถึงขั้นสุดมีการหล่อพระที่สมบูรณ์แบบ สวยงาม เนื้อนวโลหะ รูปทรงเป็นธรรมชาติ มีการตกแต่งด้วยมวลสารหลากหลายชนิดเช่นเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนาค และเนื้อนวโลหะ ประดับหมุดทอง จารยันต์ที่ก้นองค์พระ เพื่อมอบให้บุคคลชั้นสูง และผู้มีฐานันดรศักดิ์
อาจารย์ธีรศักดิ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับพระกริ่งมีน้อยมากโดยกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม ได้มีการศึกษาพระกริ่งปวเรศอย่างจริงจังทำให้ทราบได้ว่า ในสมัยหลังพุทธศักราช 2408-2428 วัดวังหน้า(วัดบวรนิเวศวิหาร) ได้มีการร่วมกันสร้างพระกริ่งปวเรศร่วมกับช่างสิบหมู่วังหน้า ที่มีเนื้อนวโลหะแตกต่างจากพระกริ่งในรุ่นก่อน ๆ
รองศาสตราจารย์ นพ.มานะ โรจนวุฒนนท์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้รับราชการ เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ปัจจุบันเกษียนราชการแล้ว มีความสนใจเชื่อในพระกริ่งว่าเป็นพระที่หายาก ทั้งมีราคาสูง ซึ่งก่อนหน้าที่จะเริ่มสะสมนั้นมีผู้ใหญ่และพระสงฆ์ที่ลูกหลานได้รับมรดกมา ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ด้วยความชรามีโรคภัยต่างๆ จึงขาดแคลนเงินในการรักษาจึงได้นำพระที่ได้รับมรดกมาเปิดให้ผู้อื่นได้เช่าบูชา จึงได้รับไว้มาตั้งแต่นั้นจนมีจำนวนมาก ด้วยความกังวลว่าพระของเราแท้หรือไม่จึงนำพระเข้าประกวดตามงานต่างๆ ได้ข้อสรุปมาว่าเป็นพระแท้ จึงอยากศึกษาตำราที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับพระกริ่งปวเรศจึงได้คำแนะนำมาให้พบกับอาจารย์ธีรศักดิ์ ฉัตรทอง นับตั้งแต่นั้นมา
ในส่วนการศึกษาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระกริ่งปวเรศนั้น ควรศึกษาจากพระเครื่องในสมัยนั้นเช่นพระสมเด็จวัดระฆัง หรือพระเครื่องสายวังอื่น ๆ ซึ่งเป็นการแยกพระเครื่องออกจากสายอื่นโดยชัดเจน ทั้งเป็นการสร้างในพระราชสำนักโดยช่างสิบหมู่วังหน้า ช่างสิบหมู่วังหลวงและวัดบวรนิเวศวิหาร สร้างโดยกลุ่มคนในพระราชสำนักเท่านั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับพระเครื่องสายอื่น ดังนั้นรายละเอียดและประวัติการจัดสร้าง ไม่ปรากฏหลักฐานจดบันทึกอย่างเป็นทางการ แหล่งข้อมูลที่พอหาได้จึงมีแค่เพียง จดหมายเหตุ ราชกิจจานุเบกษา หนังสือพระกริ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจากคำบอกเล่าจากบุคคลที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น อาจารย์ธีรศักดิ์ ฯ กล่าวสรุป
กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาไทนิวส์ออนไลน์