วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย และ ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่โครงการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ณ ธนาคารขยะฮอมบุญบ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นชุมชน หมู่บ้าน ต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะระดับจังหวัด ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดงานประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย มีข้อสั่งการผ่านผู้ว่าราชการจัวหวัดทุกจังหวัด ขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะอย่างต่อเนื่องและจัดสวัสดิการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายเจตณรงค์ อินกัน ท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย นายรุ่งโรจน์ ตันวุฒิ นายอำเภอแม่ลาว นายสุริยัน ตื้อยศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าก่อดำ ตลอดจนผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิธี พร้อมรับมอบป้ายธนาคารขยะสำหรับการจัดตั้งธนาคารขยะในเขตพื้นที่ อบต.ป่าก่อดำ จากทั้ง 7 หมู่บ้าน ที่ได้มีการดำเนินการธนาคารขยะมาแล้ว จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 บ้านสันหนองล้อม หมู่ที่ 6 และบ้านแม่ผง หมู่ที่ 5 และมีการขยายผลไปยังหมู่บ้านที่เหลืออีก 4 หมู่บ้าน โดยได้เริ่มดำเนินการธนาคารขยะ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ได้แก่ บ้านโป่งมอญ หมู่ที่ 1 บ้านต้นม่วง หมู่ที่ 3 บ้านท่าขี้เหล็ก หมู่ที่ 4 และบ้านสันหนองบัว หมู่ที่ 11 จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อีกด้วย
นายสุริยัน ตื้อยศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าก่อดำ กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดความยั่งยืน และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานธนาคารขยะให้กับประชาชนได้เห็นคุณค่า และให้ความสำคัญในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารขยะ จังหวัดเชียงรายได้คัดเลือกธนาคารขยะบ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลป่าก่อดำ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เป็นธนาคารขยะต้นแบบในระดับจังหวัด เพื่อถอดบทเรียนการขับเคลื่อนธนาคารขยะและผลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณขยะที่นำฝากผ่านธนาคารขยะทั้ง 3 หมู่บ้าน มีจำนวนเฉลี่ย 335 กิโลกรัมต่อเดือน มีเงินทุนในธนาคารขยะ จำนวนกว่า 4,000 บาท ที่หมุนเวียนกลับไปให้สมาชิกในรูปแบบการสังคมสงเคราะห์ เช่น กรณีเสียชีวิตช่วยรายละ 500 บาท ถุงอุปโภคบริโภคเพื่อการยังชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส และสมทบเพื่อสาธารณประโยชน์ในหมู่บ้าน ต่อไป
สำหรับการขับเคลื่อนธนาคารขยะในพื้นที่ อบต.ป่าก่อดำ ได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชน ครัวเรือน และภาคีเครือข่ายฯ ในพื้นที่ร่วมสนับสนุนเพื่อสร้างกลไก สร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารจัดการขยะ และธนาคารขยะให้เกิดความยั่งยืน เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากการขับเคลื่อนธนาคารขยะแล้ว อบต.ป่าก่อดำ ได้มีการบริหารจัดการขยะภายในครัวเรือนโดยเน้นให้ทุกครัวเรือนได้ช่วยกันลดปริมาณขบะมูลฝอยและคัดแยกขยะในครัวเรือนอย่างเข้มข้น อีกทั้งได้สนับสนุนให้ทุกครัวเรือนใช้ประโยชน์จากถังขยะเปียกลดโลกร้อนเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยได้มีการใช้สมุดบันทึกประจำครัวเรือนรักษ์โลก เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการตรวจติดตามการบริหารจัดการขยะของทุกครัวเรือน นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือมีการจัดทำหลักสูตร EF บูรณาการในการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อที่จะได้เป็นพลังในการสร้างสรรค์ชุมชนให้น่าอยู่สืบไป
กริช มากกุญชร นสพ.ประชาไทนิวส์ออนไลน์ เชียงราย