เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ที่บ้านสิงหไคล ถนนสิงหไคล ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน ในพิธีเปิดกิจกรรมรำลึกถึง “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ซึ่งนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตรอยเลื่อนแผ่นดินไหวขนาดใหญ่
และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 รอยเลื่อนพะเยาซึ่งอยู่ในพื้นที่ข้างเคียงและมีพลังได้เกิดแรงสั่นทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นทึ่อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ศูนย์กลางลึกประมาณ 7 กิโลเมตร ส่งผลให้เส้นทางคมนาคม โบราณสถาน และบ้านเรือนได้รับผลกระทบ ทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปางและกำแพงเพชร ซึ่งกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดขึ้น มีการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” การเสวนา “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่” ด้าน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัยกล่าวว่า นิทรรศการ “1 ทศวรรษแผ่นดินไหวแม่ลาว” แบ่งเป็น 3 โซนนิทรรศการ คือ นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง นิทรรศการเชิงศิลปสะท้อนภาพเหตุการณ์ และนิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์ โดยจะจัดขึ้นตลอดเดือนพฤษภาคม 2567 ณ บ้านสิงหไคล ถ.สิงหไคล อ.เมือง จ.เชียงราย ประชาชนเข้าชมได้ตลอดทั้งเดือนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น
กริช มากกุญชร นสพ.ประชาไทนิวส์ออนไลน์